สังคมศึกษา

งานประเพณีปอยส่างลอง (บวชลูกแก้ว)

ประวัติความเป็นมา

   งานประเพณีปอยส่างลองหรืองานบวชลูกแก้ว เป็นประเพณีบวชเณรตามธรรมเนียมของชาวไทยใหญ่ เพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและมีความเชื่อว่าจะได้รับบุญกุศลจากการบวชสามเณร งานนี้จัดให้มีขึ้นช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ช่วงปิดเทอมฤดูร้อน โดยชาวบ้านจะตกลงกันกำหนดวันนัดหมายให้ลูกหลานได้บวชเรียนพร้อมๆ กัน มีการประดับประดาผู้ที่จะบวชด้วยเครื่องประดับมีค่าอย่างสวยงาม และประกอบพิธีบวชตามวัดที่เจ้าภาพศรัทธา
   แต่เดิมปอยส่างลองเป็นประเพณีที่จัดเฉพาะในหมู่ญาติมิตรของเจ้าภาพ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2525 ได้เกิดมีแนวความคิดใหม่โดยจัดเป็นบรรพชาหมู่ร่วมกันมากถึง 200 รูป เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ทำให้ในเขตอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนนิยมจัดบรรพชาหมู่สืบต่อมาถึงปัจจุบัน ปอยส่างลองจึงได้กลายเป็นประเพณีที่จูงใจให้มีผู้สนใจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ลักษณะกิจกรรม
    งานปอยส่างลองหรืองานประเพณีบรรพชาสามเณรตามแบบไทยใหญ่ กำหนดจัดขึ้นประมาณต้นเดือนเมษายนของทุกปีในทุกอำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่สำหรับประเพณีปอยส่างลองในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนนับเป็นการจัดงานที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากที่สุดเนื่องจากมีขบวนแห่ส่างลองที่สวยงาม มีกิจกรรมที่สำคัญดังนี้
   วันที่ 1 เรียกว่า วันแห่ส่างลอง โดยนำเด็กชายเข้าพิธีโกนแต่ไม่โกนคิ้ว (พระพม่าไม่โกนคิ้ว) แต่งหน้าทาปาก สวมเสื้อผ้าสวยงาม สวมถุงเท้ายาว นุ่งโสร่งและโพกผ้าแบบพม่า ประดับด้วยมวยผมของบรรพบุรุษที่เก็บรักษาไว้แล้วตกแต่งด้วยดอกไม้ เสร็จขั้นตอนนี้แล้วจะเรียกเด็กเหล่านี้ว่า ส่างลองนำส่างลองไปขอขมาและรับศีลรับพรตามบ้านญาติผู้ใหญ่ที่นับถือ
   

วันที่ 2 เรียกว่า วันแห่ครัวหลู่ มีการแห่ส่างลองกับเครื่องไทยทานจากวัดไปตามถนนสายต่างๆ จะมีผู้เข้าร่วมขบวนแห่เป็นจำนวนมาก โดยจะให้ส่างลองขี่ม้าหรือหากไม่มีม้าก็จะขี่คอคน ซึ่งเรียกว่าพี่เลี้ยง หรือ ตะแปส่างลองมีกลดทอง หรือ ทีคำแบบพม่ากันแดด ตอนเย็นมีพิธีเรียกขวัญส่างลอง และข่ามแขกเป็นการรับแขกตอนกลางคืนอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งมีการแสดงและมหรสพสมโภชตามประเพณีไทยใหญ่
   วันที่ 3 เรียกว่า วันข่ามส่าง เป็นวันบรรพชาสามเณรโดยการแห่ส่างลองไปตามถนนอีกครั้ง จากนั้นไปรวมกันที่วัดเพื่อทำพิธีบวชและเพื่อเป็นการสืบสานวัฒนะรรมและประเพณีอันดีงามของชาวไทยใหญ่ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงได้จัดงานประเพณีบวชลูกแก้ว ปอยส่างลอง

ประเพณี ปอยส่างลอง หรือที่เรียกว่างานบวชลูกแก้วเป็นงานประเพณีประจำของชาวไต หรือไทยใหญ่ ซึ่งได้มีการจัดสืบทอดกันมายาวนาน คำว่า ปอย แปลว่า งาน ซึ่งหมายถึง งานเทศกาล งานรื่นเริง งานมงคลต่าง ๆ ส่าง แปลว่า พระ-เณร และ ลอง มาจาก คำว่า อะลอง แปลว่า กษัตริย์ ราชา เกี่ยวกับเจ้าแผ่นดิน เมื่อรวมกันก็หมายถึง งานเตรียมบวชเป็นพระเณรของเด็กที่แต่งดาเป็นกษัตริย์หรือราชานั่นเอง

โดยงาน ปอยส่างลองนี้ จะนิยมจัดในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม ถึง เดือนพฤษภาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ชาวบ้านมีเวลาว่างเว้น หลังจากเก็บเกี่ยวผืชผลเกษตรในไร่นาแล้วเสร็จ ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอมปิดภาคเรียนของเด็กๆ สาเหตุที่ชาวไทยใหญ่ได้จัดงานนี้ก็เพราะต้องการให้บุตรหลานได้มีโอกาสบรรพชา เป็นพระภิกษุสามเณรเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้ว่าชายชาวไทยใหญ่ที่นับถือพระพุทธศาสนา ล้วนจะได้ผ่านการบวชเป็นพระหรือสามเณรจากงานประเพณีปอยส่างลองนี้กันมาแทบ ทั้งสิ้น  

ตำนานปอยส่างลอง 

ตำนานปอยส่างลองนี้ ถือตามความเชื่อ 2 ประการ คือ ว่ากันว่าเป็นการเลียนแบบตามประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์เมื่อครั้งก่อนจะออกผนวช เนื่องจากเป็นเจ้าชายจึงมีการแต่งกายในรูปกษัตริย์ และเมื่อครั้งเตรียมออกผนวช ได้มีนาย ฉันนะ เป็นผู้ติดตามอารักขา ฉะนั้น การจัดงานปอยส่างลอง ของชาวไทยใหญ่จึงมีการแต่งองค์ทรงเครื่องให้กับเด็กคล้ายดังเจ้าชาย และมีลูกน้อง หรือที่เรียกว่า ตะแป หรือ พ่อส้าน แม่ส้าน คอยให้การปรนนิบัตรตลอดงาน ซึ่งหน้าที่ของ ตะแป (พ่อส้าน แม่ส้าน) คือ คอยแต่งหน้า แต่งตัว และยอมให้ขี่คอ เมื่อมีการนำส่างไปแห่ หรือ เวลาที่ส่างลองต้องการไปไหนมาไหน 

ส่วนอีกตำนานหนึ่งที่ถูกบันทึกไว้ ในหนังสือไทยใหญ่ที่เขียนโดยเจ้าหน่อคำ นักอักษรศาสตร์ชื่อดังของชาวไทยใหญ่ ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล ในกรุงราชคฤห์ มีกษัตริย์องค์หนึ่งพระนามว่า พระเจ้าพิมพิศาล ซึ่งเป็นสร้างพระวิหารถวายพระพุทธเจ้าและปาวารณาตนเป็นทายกของพระพุทธเจ้าตลอดชีวิต พระเจ้าพิมพิศาล มีโอรสพระองค์หนึ่ง นามว่า อาชาตศัตรู วันหนึ่งเจ้าชายอาชาตศัตรูได้เสด็จไปยังลานพระวิหารที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ และบังเอิญได้พบกับพระเทวทัต เมื่อนั้นพระเทวทัตได้อัญเชิญอาชาตศัตรูเสด็จขึ้นไปบนกุฏิและได้กล่าวยกย่องว่าเป็นผู้มีบุคลิกดี เฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง สมควรเป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมือง พร้อมกับยุแหย่ว่าพระเจ้าพิมพิศาลนั้นทรงชราภาพมากแล้ว ไม่เหมาะสมที่จะเป็นกษัตริย์อีกต่อไป เพราะจะไม่สามารถนำทัพไปสู้รบกับใครได้ อาจสูญเสียแผ่นดินให้กับเมืองอื่น จึงแนะนำให้พระเจ้าอาชาตศัตรูปลงพระชนม์ 

เจ้าชายอาชาตศัตรูเมื่อได้ฟังดังนั้นก็เกิดความขุ่นเคืองไม่พอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงกล่าวตำหนิว่าใครจะสังหารบิดาของตัวเองได้ลงคอ จากนั้นจึงรีบเสด็จกลับทันที ฝ่ายพระเจ้าเทวทัตไม่ลดละความพยายาม โดยได้หาโอกาสพบกับเจ้าชายอาชาตศัตรูอีกครั้ง และได้ทูลกระซิบให้พระเจ้าอาชาตศัตรูจับพระบิดาขังไว้โดยเสนอไม่ให้เสวยอาหาร 7 วัน เพื่อจะได้สิ้นพระชนม์ฺอย่างสงบ พร้อมทูลอีกว่าตัวเขาเองก็จะหาทางปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า เพื่อที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้า หลังจากนั้นท้องสองพระองค์จะร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองแทน 

เจ้าชายอาชาตศัตรูเมื่อได้ฟังดังนั้นก็หลงเชื่อ หลังกลับถึงวังได้สั่งให้ทหารนำพระบิดาไปขังไว้พร้อมสั่งไม่ให้ผู้ใดนำอาหารไปให้เสวย ฝ่ายพระมารดาเมื่อทราบข่าวก็เกิดความรู้สึกสงสารในพระสวามี จึงได้ทำขนมใส่เกล้าผม บางครั้งใส่รองเท้า หรือทาตามตัวบ้าง แอบเข้าไปเยี่ยมและให้เสวย จนกระทั่งเวลาผ่านไปครบ 7 วันพระเจ้าพิมพิศาลก็ยังมีชีวิตอยู่ และยังสามารถนั่งนอน ลุกเดินไปมาภายในห้องขังได้ เมื่อเจ้าชายอาชาตศัตรู ทราบเรื่องก็ได้สั่งให้ทหารเฉือนเนื้อฝ่าเท้าของพระบิดาออกแล้วให้เอาน้ำเกลือทา เพื่อไม่ให้เดินไปมาได้ 

ระหว่างกำลังขังทรมานพระบิดาอยู่นั้น เจ้าชายอาชาตศัตรูได้นำพาพระโอรสไปเยี่ยมพระมารดา และระหว่างนั้นได้ทรงตรัสกับพระมารดาว่า เขามีความรักใคร่ในพระโอรสของเขามาก และได้ทรงตรัสถามพระมารดาว่า เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์พระบิดาจะทรงรักตนเหมือนที่ตนรักพระโอรสหรือไม่ เมื่อพระมารดาได้ยินเช่นนั้น จึงตรัสว่า เจ้ารักลูกเจ้ามากนั้นคงไม่จริงหลอก เพราะของเล่นต่างๆ ซึ่งล้วนมีค่าที่ลูกเจ้าเล่นอยูทุกวัน เป็นของเล่นที่พ่อเจ้าซื้อให้เจ้าทั้งสิ้น เจ้าไม่ได้ซื้อหามาให้ลูกเจ้าแม้แต่ชิ้นเดียวเลย

เจ้าชายอาชาตศัตรู เมื่อได้ฟังดังนั้นจึงแน่นิ่ง และทรงสำนึกผิดที่ได้กระทำต่อพระบิดา จากนั้นจึงรีบเสด็จไปยังที่คุมขังพระบิดา เพื่อนำตัวออกมารักษา ทว่า พระบิดาได้สิ้นพระชนม์เสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้าชายอาชาตศัตรู เกิดความรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง จากนั้นจึงรีบเสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมกับทูลเล่าเรื่องทังหมด เมื่อพระพุทธเจ้า ได้ฟังดังนั้นจึงตรัสว่า เพราะคบคนพาลจึงได้ทำบาปมหันต์เช่นนี้ เพื่อผ่อนบาปที่หนักให้เป็นเบา ให้นำพระโอรสมาถวายเป็นทานในพระพุทธศาสนา โดยที่ให้เขาสมัครใจ

เมื่อทราบดังนั้น เจ้าชายอาชาตศัตรู ได้ชักชวนพระสหายพร้อมด้วยอำมาตย์ให้นำบุตรหลานเข้าร่วมรับการบวช ซึ่งมีจำนวนกว่า 500 คน ก่อนบวชได้มีการจัดงานใหญ่ 7 วัน 7 คืน พร้อมกับมีการแต่งองค์ทรงเครื่องบุตรหลานด้วยเครื่องประดับสวยงาม พร้อมกับมีการนำบุตรหลานอาบน้ำขมิ้นส้มป่อย ซึ่งถูกแช่ด้วยเพชร พลอย ทองคำ เงิน เพื่อเป็นสิริมงคล จากนั้นได้แห่ไปตามถนนรอบกรุงราชคฤห์ด้วยการขี่ช้าง ขี่ม้า หลังครบ 7 วัน จึงนำไปเ้ข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรต่อหน้าพระพุทธเจ้าและเหล่าพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย จากเหตุนี้ ชาวไทใหญ่จึงได้ยึดถือนำมาปฏิบัติจัดเป็นงานประเพณีปอยส่อง จนถึงปัจจุบัน 

ขั้นตอนการจัดงานปอยส่างลอง

ปอยส่างลองหรืองานบวชลูกแก้วนั้นเป็นพิธีการเฉลิมฉลองของการบรรพชาสามเณรในศาสนาพุทธซึ่งปกติจะมีการจัดงานตั้งแต่ 3 – 5  - 7 วัน ซึ่งงานดังกล่าวนี้จะนิยมจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ว่างเว้นจากการทำนาทำไร่ และเป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของเด็กๆด้วย 

ก่อนถึงวันประเพณีปอยส่างลอง อย่างน้อย 10 วัน พ่อแม่จะนำเด็กที่จะเข้ารับการบวช ไปฝากไว้กับหลวงพ่อ หรือพระอาจารย์ที่วัด เพื่อรับการฝึกสอนคำรับศีล คำให้พร คำขอบวช รวมถึงการกราบไว้ และก่อนจะเป็นส่างลอง เด็กซึ่งเป็นผู้ชายจะต้องโกนผม และอาบน้ำสะอาด หรือ น้ำเงิน น้ำทอง น้ำเพชร น้ำพลอย เพื่อเป็นสิริมงคล จากนั้นจะแต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าเครื่องประดับต่างๆ อย่างอลังการ มีการแต่งหน้าแต่งตาด้วยสีสันที่จัดจ้านให้ส่างลอง ดูสวยงามเสมือนเจ้าชายซึ่งมีสง่าราศีเหนือคนทั่วไป

วันแรกของปอยส่างลอง หรือ ที่เรียกกันว่า วันเอาส่างลอง หลังจากส่างลองได้ทำพิธีรับศีลแล้ว ผู้เป็นพ่อแม่รวมถึงเจ้าภาพจะจัดเลี้ยงอาหาร 12 อย่าง เป็นมื้อแรกแก่ส่างลอง จากนั้นจะนำส่างลองแห่รอบวิหาร 3 รอบ และแห่ไปกราบคารวะศาลหลักเมือง จากนั้น ในช่วงบ่ายก็จะนำส่างลองไปคารวะตามวัดต่างๆ 

วันที่สอง หรือ "วันรับแขก" ทั้งส่างลอง และเจ้าภาพ จะคอยให้การต้อนรับแขกจากที่ต่างๆ ที่ได้มีการเชิญไว้ก่อนล่วงหน้า ซึ่งจะมาร่วมทำบุญด้วย ซึ่งวันนี้จะเป็นวันที่มีการเลี้ยงฉลองแขกและญาติๆ ที่มาร่วมงานอย่างสนุกสนาน
วันสุดท้าย คือ "วันบวช" พิธีของวันนี้จะเริ่มด้วยการนำส่างลองไปแห่รอบวิหาร 3 – 7 รอบ จากนั้นจะนำส่างลองขึ้นวัดเพื่อขออนุญาตทำการบรรพชาจากพระผู้ใหญ่ เมื่อท่านเจ้าอาวาส หรือพระผู้ใหญ่ได้อนุญาตแล้ว ส่างลองก็จะพร้อมกันกล่าวคำบรรพชาและอาราธนาศีล แล้วจึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดเสื้อผ้าส่างลองที่สวยงามมาเป็นผ้ากาสาวพัตร์สีเหลือง และเป็นพระภิกษุ - สามเณรอย่างสมบูรณ์
ก่อนเข้าพิธีบวชหนึ่งวัน ส่างลองจะได้เข้าพิธีเรียกขวัญและการสวดคำขวัญ เพื่อให้เป็นสิริมงคลด้วย ซึ่งงานประเพณีปอย
ส่างลองนี้ แต่ละแห่งจะมีการจัดแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความสะดวกและลำดับขั้นตอนของที่นั้นๆ โดยเฉพาะกำหนดวัน ซึ่งที่ที่มีการจัดงานมากกว่า 3 วัน จะเลื่อนวันรับแขกออกไปวันอื่น และในช่วงการจัดงานจะมีการนำส่างลองไปเยี่ยมบ้าน หรือ ไปคารวะวัดและเยี่ยมเยือนหมู่บ้านต่างๆ  ที่ขาดไม่ได้คือ ตลอดงานจะต้องมีการแห่ส่างลอง รอบวิหารของวัดพร้อมมีการรับศีลทุกเช้าเย็น ที่สำคัญตลอดงานส่างลองจะต้องไม่แตะพื้นที่ดิน ซึ่งหากจำเป็นจะไปไหนมาไหน ผู้เป็น ตะแป หรือ พ่อส้าน จะคอยดูแลโดยให้ขี่คอ และจะมี ตะแป อีกคนคอยกางร่มให้ตลอดเวลา  

องค์ประกอบงานบวช ปอยส่างลอง 

1.    ชุดส่างลอง (เครื่องแต่งกายต่างๆ)
2.    ร่มทอง (สำหรับกางให้ส่างลอง)
3.    ตะแป - พ่อส้าน แม่ส้าน (ผู้คอยปรนนิบัตร)
4.    จีวร 
5.    อัฐบริขาร (ประกอบด้วย เครื่องใช้ต่างๆ)
6.    ต้นเงิน
7.    สังฆทาน
8.    ต้นข้าวตอก หรือ ต้นข้าวแตก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น